เด็กเก่งเป็นแบบไหน?? คำถามชวนคิด จากงานเวิร์คช้อปบูรณาการสหวิชาการ โดย ดร. จารุวัจน์ สองเมือง




ซากี เริงสมุทร์ เล่าเรื่อง
.
ในงาน workshop เพื่อทำความเข้าใจ "การบูรณาการสหวิชาการ" โดย ผศ.ดร.จารุวัจน์ สองเมือง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพการศึกษา และ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ให้แก่คณะครูโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 
.
วิทยากรได้เริ่มต้นด้วยคำถามชวนคิด 
คำถามแรก. เด็กเก่งเป็นแบบไหน??
คำถามที่ 2 อะไรคือลักษณะเด่นของนักเรียนโรงเรียนเรา
คำถามที่3 ประเด็นอะไรที่จะต้องสร้างให้เกิดในตัวนักเรียนเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของเด็ก
คำถามที่ 4 จะนำเอาคำตอบจากข้อ. 1-3 มาอยู่ในหน่วยการเรียนของทุกวิชาได้อย่างไร
.
ทั้ง 4 ข้อ นับเป็นโจทย์ท้าทายคำตอบต่อนักการศึกษา พวกเราทุกคน
.








ขอเจาะเฉพาะคำถามที่ 1 ที่ผู้เขียนอยากนำเสนอในที่นี้ ได้มาจากการที่ได้นั่งฟังการเถียงกันระหว่าง วิทยากรกับคุณครูที่เข้าอบรม จึงได้บันทึกไว้ ณ ที่นี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นเวิร์คช้อปที่ประทับใจอีกครั้งนึงของผู้เขียนเอง ได้ความตอนสรุปว่า
.
เมื่อก่อนเด็กเก่ง ที่โลกศตวรรษที่ 18-19 ต้องการก็คือ เด็กที่เรียนรู้ได้เร็ว จดจำสิ่งต่างๆได้รวดเร็ว เพราะมีความจำกัดของแหล่งข้อมูล และการเข้าถึงความรู้ ที่ต้องพึ่งกระดานชนวน เมื่อเขียนแล้วลบออก เลยต้องเก็บความรู้ไว้ในสมองให้ได้มากสุด 
.
ต่อมาในศตวรรษที่ 20 ยุคที่อุตสาหกรรมกระดาษพัฒนามาก หนังสือผลิตได้จำนวนมาก เด็กยุคนั้นจึงต้องอ่านเก่ง อ่านเร็ว บันทึกเก่งและกรองข้อมูลได้ และสามารถหาแหล่งอ้างอิงข้อมูลได้ ถ้าสามารถซื้อหนังสือเป็นซีรีย์ไว้อ้างอิงจำนวนมาก เพื่อนำมาไว้ใช้อ้างอิงเมื่อเกิดปัญหา หรือเมื่อดำเนินการศึกษาในเรื่องใด 
.
แต่เด็กยุคปัจจุบัน เด็กในศตวรรษที่ 21 ยุคที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย เร็ว หนังสืออ้างอิงพันๆเล่มอยู่ในระบบคลาวน์ในอากาศ จะใช้เมื่อไหร่ก็เรียกหาจาก Google ทว่าข้อมูลที่นักเรียนได้รับจากการค้นหา Google กลายเป็นข้อมูลขยะนับพันๆเรื่อง หากขาดปัญญาแยกแยะ ข้อมูลหลอก ข้อมูลลวง ข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลผิดพลาด จะทำให้พวกเขากลายเป็นคนเขลาไปในที่สุดก็เป็นได้ 
.
เด็กเก่งในยุคนี้จึงต้องแตกต่างจากยุคก่อน.... ที่ไม่ใช่จำเก่ง อ่านเร็ว 
.
แต่ต้องสามารถชั่งน้ำหนักได้ว่าข้อมูลที่ได้เชื่อได้จริงไหม ถูกต้องเพียงใด ซึ่งข้อมูลที่ได้จำนวนมากเป็นข้อมูลที่บิดเบือนจากความจริง
.
เด็กเก่งในยุคของเรา จึงต้อง
1) คิดเป็น
2) ทำเป็น
3) แก้ปัญหาเป็น
.
ให้ความสำคัญกับการคิด ตัดสินใจ ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ได้ถ้าครูสอนเป็น
.
ตัวอย่างเช่น อ.สอนอิสลามศึกษา ในอดีตถามในข้อสอบว่า
" หลักศรัทธาของอิสลาม (รูก่นอีหม่าน) มีกี่ข้อ ข้อที่หนึ่งคืออะไร" แล้วมีตัวเลือก 
ก.ศรัทธาต่ออัลลอฮ
ข. ศรัทธาต่อคัมภีร์ 
ค. ศรัทธาต่อศาสนทูต 
ง. ผิดทุกข้อ 
.
ซึ่งเป็นข้อสอบการวัดความรู้ในเนื้อหา วัดความจำ แต่ไม่ได้วัดว่าคิดเป็น !!! ทำเป็น และแก้ปัญหาได้ 
.
ถ้าเป็นข้อสอบเด็กในยุคนี้ ยุคที่ต้องการรู้ว่าเด็กคิดเป็นไหม หรือมีพื้นฐานการคิดไหม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน จึงควรออกข้อสอบว่า
.
" นายอับดุลเลาะวางวัตถุมงคลไว้หน้ารถเพื่อเสริมความมั่นใจว่าเวลาขับรถจะไม่เกิดอุบัติเหตุ. เกิดผลกระทบทางบวกหรือลบต่อรูกนอีหม่านข้อที่ว่าด้วยเรื่องอะไร และทำไม"
.
หรือออกข้อสอบว่า "นายอาดำเปิดไลน์ แล้วมีเรื่องราวว่า... แล้วลงท้ายว่า ขอให้ผู้ที่ได้อ่านข้อความแล้วให้แชร์ไปอีก 30 คน มิฉะนั้นจะมีอันเป็นไป นายอาดำจึงรีบแชร์ทันที การที่นายอาดำทำเช่นนั้นมีผลต่อรูก่นอีหม่านข้อที่ว่าด้วยเรื่องใด เพราะเหตุใด"
.
ในยุคปัจจุบัน โลกของข่าวสารท่วม จากสื่อต่างๆ ที่มาจากทีวี วิทยุ รวมทั้งจากโลกออนไลน์ จนบางครั้งเราก็ตกเป็นเหยื่อจากข้อมูลที่บิดเบือน และยังบวกกับความโน้มเอียงส่วนตัวของเราที่พร้อมจะเชื่อโดยปราศจากการคิดวิเคราะห์ ปราศจากการหาความสมเหตุสมผล ก่อนทีเราจะเชื่อ ก่อนที่เราจะแชร์ จนอาจทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการส่งต่อความบิดเบือนของข้อมูลข่าวสารนั้นๆเสียเอง ด้วยความมั่นใจอย่างมากว่ามันเป็นเรื่องจริง
.
การพัฒนาทักษะการคิด ( Critical Thinking) เป็นวิชาที่สามารถจัดการสอนได้ในชั้นเรียน มีกระบวนการในการพัฒนา ตั้งแต่เริ่มต้นด้วย กล้าคิด เริ่มคิด ลองคิด ได้คิด คิดได้ คิดถุกคิดผิด คิดสั้นคิด จนในที่สุดไปจนถึงขั้น คิดเป็น 
.
Critical Thinking (การคิดวิเคราะห์/การคิดเชิงวิพากษ์ ) คือ การสะท้อนความคิดที่มีเหตุผลโดยการพุ่งประเด็นไปเน้นที่การตัดสินใจที่จะเชื่อหรือตัดสินใจที่จะกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กล่าวให้ชัดก็คือการประเมินในความจริง ความแม่นยำ และ/หรือคุณค่าของความรู้หรือข้อถกเถียงที่ได้รับ ในการนี้ต้องการการวิเคราะห์ความรู้หรือความเชื่อที่ได้รับรู้มาอย่างระมัดระวัง ตรงจุด เกาะติดและเป็นรูปธรรมที่มีเหตุผล เพื่อให้สามารถตัดสินได้ว่าสิ่งนั้น ๆ จริงหรือมีคุณค่าจริงหรือไม่
.
Critical Thinking ( การคิดวิเคราะห์/การคิดเชิงวิพากษ์ ) คือ เครื่องมือที่จำเป็นยิ่งยวดเพื่อการตัดสินหรือลงความเห็นด้ววิธีสืบเสาะ กำหมดเป้าหมายที่ถูกต้องชัดเจนและการบังคับตนเองไม่ให้ถูกชักจูง เพื่อให้ได้มาซึ่งการแปลความหมาย การวิเคราะห์ การประเมินและการลงความเห็นตลอดจนการอธิบายพยานหลักฐานหรือสิ่งอ้างอิง แนวคิด วิธีการ การกำหนดกฎเกณฑ์หรือบริบทของข้อพิจารณาที่เป็นที่มาของข้อสรุป ความเห็น หรือข้อตัดสิน 
.
เด็กรุ่นใหม่ แค่เพียงเค้าตั้งใจว่าจะทำตามซุนนะห์นบี เค้าคง key คำนี้ไปถาม อ.Goo ทันทีว่า "เริ่มต้นซุนนะห์นบีอย่างไร" คำตอบที่ Google หาให้ในหน้าแรก ถ้าเค้าเริ่มมีทักษะการคิด เค้าจะเริ่มถามก่อน "จะเชื่อได้ไหม??" 
.
ที่ยกมา ดร. จารุวัจน์ให้แนวทาง เป็นตัวอย่างว่าเราจะสำรวจว่าเด็กคิดเป็น ด้วยวิธีใด
.
.
อ้างอิง: https://parentschool.wordpress.com/…/…/11/critical-thinking/








Comments