ลักษณะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
กระทรวงศึกษาธิการโดยสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนเน้นพัฒนาด้านการบริหารและวิชาการโดยเฉพาะการเร่งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนทั้ง 3 สายวิชาคือวิชาศาสนาวิชาสามัญและวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพโดย ปรับปรุงหลักสูตรวิชาศาสนา และวิชาสามัญเพื่อลดจํานวนชั่วโมงให้น้อยลงโดยให้มีการประสมประสานวิชาศาสนาและวิชาสามัญเข้าด้วยกัน จัดโครงการสร้างหลักสูตรในระดับต้นให้เรียนวิชาศาสนาและวิชาสามัญ ส่วนรายวิชาภาษาอาหรับให้เรียนในระดับกลางและระดับสูง
ประเภทของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นโรงเรียนที่มีบทบาทสําคัญต่อการจัดการศึกษาในชุมชนมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเป็นที่ที่มีโรงเรียนรูปแบบนี้ตั้งอยู่มากกว่าพื้นที่ใดๆในประเทศและจากสภาพจริงในปัจจุบัน สามารถจําแนกโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามได้ 3 ประเภท คือ
จำแนกตามการจดทะเบียนโรงเรียน
1. โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนวิชาศาสนาอย่างเดียว
2. โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มาตรา 15(1) เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือหลักสูตรที่ไดรับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเปิดสอนวิชาศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ หรือวิชาชีพ ในระบบโรงเรียนและได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนตามมาตรา 15(1)
3. โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มาตรา 15(2) เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษา หรือหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเปิดสอนวิชาศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญหรือวิชาชีพ
นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่จดทะเบียนเป็นโรงเรียนเปิดสอนสามัญศึกษา ซึ่งจะจัดการเรียนการสอนด้วยการบูรณาการอิสลามในวิชาสามัญ และบรรยากาศโรงเรียนให้เป็นบรรยากาศอิสลาม หรือกล่าวได้ว่าจดทะเบียนเป็นโรงเรียนเอกชนสามัญทั่วไป
จำแนกตามลักษณะการได้รับเงินอุดหนุน
อีกทั้งยังสามารถจําแนกโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มาตรา 15(1) ตาม ลักษณะการได้รับเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนจากรัฐ เป็น 3 ประเภทคือ
1. โรงเรียนที่มีมูลนิธิหรือมัสยิดเป็นผู้รับใบอนุญาตก่อนปีพ.ศ.2539 จะได้รับเงินอุดหนุนในรูปของ บัตรค่าเล่าเรียนหรือเรียกว่าการอุดหนุนรายหัวนักเรียนในอัตราร้อยละ 100 ของค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนภาครัฐ
2. โรงเรียนที่มีมูลนิธิหรือมัสยิดเป็นผู้รับใบอนุญาตตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จะได้รับเงินอุดหนุนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนภาครัฐ ปัจจุบันได้รับเงินอุดหนุนเต็มอัตราร้อยละ 100 เช่นเดียวกับประเภทที่ 1
3. โรงเรียนที่มีเอกชนเป็นผู้รับใบอนุญาตจะได้รับเงินอุดหนุนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนภาครัฐ
ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มาตรา 15(2) จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐโดยได้รับการอุดหนุนจากรัฐใน 3 ด้านคือ
1. ด้านการเงิน เป็นการให้เงินอุดหนุนแกโรงเรียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดําเนินกิจการของโรงเรียน โดยเป็นเงินสมนาคุณผูู้รับใบอนุญาต สมนาคุณครูสอนศาสนาตลอดจนงบพัฒนาโรงเรียน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกําหนดและให้เป็นเงินค่าดําเนินการวัดผลการศึกษา
2. ด้านบุคลากรเป็นการอุดหนุนโดยให้สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน จัดส่งข้าราชการครูไปช่วยสอนตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกําหนด
3. ด้านสื่อการเรียนการสอน เป็นการจัดสรรวัสดุอุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียนตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกําหนด
ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตามหลักสูตรอิสลามศึกษาปี 2546 มีดังนี้
1.หลักสูตรวิชาศาสนา มี 3 หลักสูตรดังนี้
ก. หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบตีดาอียะห์) เวลาเรียน 4 ปี
ข. หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง (มุตาวัซซิเตาะฮ์) เวลาเรียน 3 ปี
ค. หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย (ซานาวียะห์) เวลาเรียน 3 ปี
นอกจากนี้บางโรงเรียนได้นำหลักสูตรอิสลามศึกษา ปี 2551 มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนบ้าง แต่ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่า โรงเรียนที่รับใบอนุญาตเป็นโรงเรียนสอนอิสลามควบคู่สามัญนั้นยังจำเป็นต้องใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาปี 2546 ส่วนโรงเรียนที่จดทะเบียนเป็นโรงเรียนสามัญศึกษาเท่านั้นที่สามารถใช้หลักสูตรอิสลามศึกษา 2551 ได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังหาข้อยุติยังไม่ได้
2.หลักสูตรวิชาสามัญ ใช้หลักสูตรเช่นเดียวกับโรงเรียนประเภทสามัญศึกษาทั่วไป มี 3 หลักสูตร
ได้แก่
ก. หลักสูตรประถมศึกษา (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2533 ใช้เวลาเรียน 6 ปี
ข. หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2533 ใช้เวลาเรียน 3 ปี
ค. หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2533 ใช้เวลาเรียน 3 ปี
3.หลักสูตรบูรณาการระหว่างวิชาศาสนาและวิชาสามัญมี 2 หลักสูตรคือ
ก. หลักสูตรอิสลามศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นพ.ศ. 2535 ใช้เวลาเรียน 3 ปี
ข. หลักสูตรอิสลามศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายพ.ศ. 2535 ใช้เวลาเรียน 3 ปี
4.หลักสูตรวิชาชีพโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้นําหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 2 หลักสูตร
ได้แก่
ก. หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นของวิทยาลัยสารพัดช่าง
ข. หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นของวิทยาลัยชุมชน
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นโรงเรียนที่ได้แปรสภาพจากปอเนาะซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระบบเปิดและมีการจัดการเรียนการสอนโดยยึดหนังสือตําราเป็นหลักโดยไม่มีหลักสูตรเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการบริหารจัดการแบบโต๊ะครูบริหารคนเดียว
เมื่อได้มีการแปรสภาพ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามได้มีพัฒนามาเป็นระยะๆ และได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ทั้งทางด้านเงินอุดหนุน ด้านการจัดหลักสูตรทั้งศาสนาและสามัญด้านการพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรด้านสื่อการเรียนการสอนและยังให้สถาบันการศึกษาอื่นมาร่วมเปิดสอนในหลักสูตรต่างๆทางวิชาชีพอีกด้วย
This comment has been removed by the author.
ReplyDelete