การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้





หลายครั้งที่เราต่างก็ตั้งคำถามกันว่า เราจะจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกันได้อย่างไร โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หากเราติดตามดูตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะเห็น รับรู้ และได้ยินข่าวของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเกิดขึ้นใหม่ทุกๆปี เกือบทุกพื้นที่ ที่มีชุมชนมุสลิมปักหลักอาศัยอยู่ แทบจะน้อยมากที่เราจะได้ยินว่าจะมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต้องปิดตัวลงไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆ เมื่อเทียบกับโรงเรียนของรัฐ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการเกิดขึ้นของโรงเรียนจะยั่งยืนหากเราไม่เริ่มทำความเข้าใจปรากฏการณ์ หรือ ตั้งเป้าหมายเพื่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยใจบริสุทธ์จริงๆ 

อยากให้ลองอ่านวิทยานิพนธ์ของ อ. นินาวาลย์ ปานากาเซ็ง แมงกาจิ เรื่อง "การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้" ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจถึงโลกที่เป็นจริงของการแข่งขัน และความต้องการของผู้ปกครอง 

เนื้อหาโดยสรุปจาก บทคัดย่อดังนี้ครับ


อ.นินาวาลย์ ใช้กลุ่มตัวอย่าง คือ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 103 โรงเรียน ทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการแบบแบ่งชั้น เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและได้รับแบบสอบถามกลับคืนร้อยละ 100 วิเคราะห์องค์ประกอบโดยวิธีเชิงสำรวจ

ผลการวิจัย พบว่า แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างขึ้นจากองค์ประกอบที่เกิดจากกลุ่มตัวแปรที่มีความสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนให้มีความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา แนวทางการจัดการศึกษาดังกล่าวประกอบด้วยองค์ประกอบที่เกิดจาก

 (1) การสร้างความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานทรัพยากรและความสามารถของโรงเรียน จำนวน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบเกี่ยวกับผู้บริหารมืออาชีพ การบริหารต้นทุน การบริหารบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิผล และการพัฒนาภาพลักษณ์สถานศึกษา 

(2) การสร้างความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการทางการศึกษา จำนวน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามวิถีอิสลามอย่างสอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นและสากล การจัดกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนดำรงชีวิตอย่างสันติสุข ครูและบุคลากรสายสนับสนุนการสอนมืออาชีพ การดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของสถานศึกษา และการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล 

(3) การสร้างความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นและสากล จำนวน 1 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ทุกองค์ประกอบข้างต้นเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทุกขนาดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

เห็นได้ว่าเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ผู้คงแก่เรียนทางด้านศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องประกอบด้วยความรู้ ความสามารถ และเครือข่ายการพัฒนาโรงเรียนเพิ่มเข้ามาอีกด้วย

อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://soreda.oas.psu.ac.th/show_detail.php?research_id=450




Comments